พระประวัติ ของ พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา

ประสูติ

มหาอำมาตย์ตรี พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา นายพันเอกทหารบก เป็นหม่อมเจ้าชายใหญ่ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ประสูติในรัชกาลที่ 3เมื่อปีวอก พ.ศ. 2391 แต่พระบิดายังปรากฏนามว่า พระองค์เจ้ารองทรง คนทั้งหลายเรียกกันแต่ว่าหม่อมเจ้าใหญ่ มาจนทรงตั้งเป็นพระองค์เจ้าวัฒนา ตามพระนามเดิม เมื่อในรัชกาลที่ 5 จึงได้เรียกกันว่าพระองค์เจ้าวัฒนา

เมื่อทรงพระเยาว์

บรรพชา ตามรอยบาทพระศาสดา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระปิตุลา

เมื่อรัชกาลที่ 4 พระชันษาครบปีเกศากันต์และผนวชเป็นสามเณร ได้เกศากันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนกับหม่อมเจ้าทั้งปวง แต่เมื่อผนวชแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ซึ่งเป็นพระปิตุลาทรงรับไปให้อยู่ที่พระตำหนัก ณ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร แล้วเป็นพระธุระทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยประทานตลอดเวลาที่ผนวชอยู่พรรษา 1 นั้น

ฝึกหัดวิชาสุวรรณกิจ

เมื่อลาผนวชแล้วได้ตามเสด็จพระบิดาเข้ามาที่โรงทองที่ในพระบรมหาราชวังเป็นเนืองนิตย์ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ 4 กรมหมื่นสิทธิสุขุมการได้ทรงกำกับราชการในโรงทองหลวง พระองค์เจ้าวัฒนาตามเสด็จเข้ามา จึงมาหัดวิชาช่างทองในสำนักช่างหลวง จนทรงชำนาญวิชาช่างทอง และเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเมตตา ด้วยเสด็จไปทอดพระเนตรเห็นเมื่อหัดเป็นช่างทองอยู่นั้น ได้พระราชทานรางวัลทองทศทองพิศเป็นต้นเนือง ๆ

กตัญญูจิตต่อพระบิดา

ในสมัย รัชกาลที่ 5 ถึงเวลาพระชันษาครบอุปสมบทก็ได้ผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และประทับอยู่วัดบวรนิเวศเหมือนเมื่อผนวชเป็นสามเณร แต่ถึงรัชกาลนี้พระบิดาทรงพระชรา ไม่ได้ว่าการโรงทองหลวงเหมือนแต่ก่อนพระองค์เจ้าวัฒนาปฏิบัติพระบิดาอยู่ตลอด จนเมื่อวันที่4 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 ที่วังปากคลองตลาด พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการก็เสด็จนิวัติสู่สรวงสวรรค์ ด้วยพระโรคชรา สิริพระชันษา 70 ปี

ตามพระเชษฐา เข้ารับราชการ

สนองงาน กระทรวงวัง

เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว จึงปรารภที่จะรับราชการเนื่องด้วยวังกรมหมื่นสิทธิสุขุมการอยู่ริมคลองตลาด ใกล้กับวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมประทับอยู่ในเวลานั้น คือ ตรงที่โรงทหารม้าทุกวันนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เวลานั้นยังไม่มีวัง ประทับอยู่ที่วังนั้นด้วย พระองค์เจ้าวัฒนาจึงได้คุ้นเคยกับทั้ง 2 พระองค์ ตั้งแต่พระบิดายังทรงพระชนม์อยู่ แล้วกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจได้หม่อมเจ้าหญิงเม้าเป็นชายา ก็ได้เกี่ยวดองกันอีกขั้น 1 พระองค์เจ้าวัฒนาแรกเข้ารับราชการ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2424 ครั้งโปรดฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงจัดการตั้งกรมทหารรักษาพระราชวัง กรมหลวงประจักษ์ฯ จึงทรงชวน พระองค์เจ้าวัฒนาเข้ามารับราชการในกรมทหารนั้น ได้มียศเป็นนายร้อยเอกตำแหน่งผู้ตรวจการ ต่อมาเมื่อทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ฯ เป็นเสนาบดี กระทรวงวัง ก็ได้มาเป็นตำแหน่งผู้ตรวจการในกระทรวงวังด้วย แล้วได้เป็นหัวหน้าพนักงานกรมวังสำหรับตามเสด็จประพาสหัวเมือง จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคุ้นเคยจนชอบพระอัธยาศัยสนิทดังปรากฏอยู่ในกระแสรับสั่งซึ่งประกาศเมื่อทรงตั้งเป็นพระองค์เจ้านั้น

พระองค์เจ้าวัฒนารับราชการอยู่ในกรมวังได้ 9 ปี 2 ในระหว่างนั้นได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเสมอชั้นปลัดทูลฉลอง 3 และมียศเป็นนายพันเอก

ประพาส รั้งราชการ

เมืองภูวดลสอาง ในแขวงคำม่วน

ครั้งนั้นถึงรัตนโกสินทร์ศก 110 ตรงกับปีเถาะ พ.ศ. 2434 เมื่อทรงพระราชดำริจะจัดการปกครองหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตให้มั่นคงยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม แต่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น เสด็จขึ้นไปเป็นข้าหลวงสำเร็จราชการประจำมณฑลอุดร ในคราวเดียวกับที่โปรดฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จไปประจำอยู่มณฑลอิสาน และกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อยังดำรงยศเป็นกรมหมื่นเสด็จไปประจำมณฑลนครราชสีมาทรงพระกรุณาโปรดเล้าฯ ให้พระองค์เจ้าวัฒนาเมื่อยังเป็นหม่อมเจ้า เป็นตำแหน่งข้าหลวงที่ 2 รองกรมหลวงประจักษ์ฯ ขึ้นไปรับราชการในมณฑลอุดรด้วย ได้ไปรับราชการเป็นข้าหลวงที่ 2 อยู่ 9 ปี ในระหว่างนี้ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบหลายคราว และยังทรงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองภูวดลสอาง พระราชอาณาเขตรในมณฑลอุดร ปัจจุบันคือเมืองมหาไชย (ลาว) (ลาว: ເມືອງມະຫາໄຊ)แขวงคำม่วน สปป.ลาว

เทศาภิบาล มณฑลอุดร

ครั้นเมื่อ ร.ศ. 118 ตรงกับปีกุน โปรดฯ ให้กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เสด็จกลับลงมารับราชการในกรุงเทพฯ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าวัฒนาเป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอุดรแล้วทรงสถาปนาพระยศเลื่อนขึ้นเป็นพระองค์เจ้าในปีนั้น มีประกาศกระแสพระราชดำริซึ่งทรงยกย่องความชอบความดี ดังนี้

ศุภมัศดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๓ พรรษา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม มุสิกสังวัจฉร กติกมาศ กาฬปักษ์ จตุตถีดิถี โสรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๙ พฤศจิกายนมาศ ทสมมาสาหคุณพิเศษบริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าหม่อมเจ้าวัฒนา ในพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ได้เข้ารับราชการในกรมทหารล้อมวัง มีตำแหน่งตั้งแต่ปลัดกองจนถึงนายพันเอกบังคับการกองได้รับราชการในกรมวัง เป็นที่สนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัยมาช้านาน ภายหลังได้ขึ้นไปราชการในกองพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงมณฑลฝ่ายเหนือ และได้เป็นแม่กองขึ้นไปรักษาราชการเมืองภูวดลสอาง๑จนเสร็จราชการ แล้วประจำอยู่ในมณฑลนั้นถึง 9 ปี ครั้นเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเสด็จลงมารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม จึงได้รับตำแหน่งเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลฝ่ายเหนือมาจนบัดนี้ มีพระอัธยาศัยซื่อตรงจงรักภักดีต่อราชการ อดทนต่อความลำบากมิได้มีความย่อหย่อน สมควรที่จะได้เลื่อนพระเกียรติยศขึ้นเป็น พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้า พระองค์หนึ่งได้
จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้าวัฒนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า ให้มีคำนำหน้าพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระวงษ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนา คชนาม ทรงศักดินา 2,000 ตามพระราชกำหนดอย่างพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฝ่ายพระราชวังบวรฯ จงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริ สวัสดิ์พิพัฒมงคล ทุกประการเทอญ— ราชกิจจานุเบกษา[1]

เมื่อพระองค์เจ้าวัฒนารับราชการในตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลได้ทรงพระอุตสาหะจัดราชการในมณฑลนั้นเรียบร้อย และทำนุบำรุงผลประโยชน์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นหลายอย่าง กอปรด้วยพระอัธยาศัยซึ่งทรงเมตตาปราณีแก่คนทั้งหลาย และเป็นที่นิยมนับถือของบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตลอดจนประชาราษฎรทั่วทุกจังหวัดในมณฑล เป็นเหตุให้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 1 เมื่อเป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่นั้น พระองค์เจ้าวัฒนาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอยู่ 6 ปี รวมเวลาได้แต่เสด็จไปรับราชการอยู่ในมณฑลอุดร 15 ปี ถึง ร.ศ. 125 ตรงกับปีมะเมีย พ.ศ. 2449


พระชายาและหม่อม

  • มีพระชายาเป็นชาวนครพนม คือ หม่อมบัว รองทรง ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหลานสาวพระยาพนมนครานุรักษ์ฯ (กา พิมพานนท์) ผู้ว่าราชการเมืองนครพนมในลำดับต่อมา มีธิดากับหม่อมบัวคือ หม่อมราชวงศ์หญิงวลี ทองใหญ่ ชายาในหม่อมเจ้าทองประทาศรี ทองใหญ่
  • มีหม่อม คือ หม่อมจวง รองทรง ณ อยุธยา มีโอรสกับหม่อมจวง คือ หม่อมราชวงศ์อุทัยพันธุ์ รองทรง

จรจากราชการ

เมื่อพระชันษาได้ 59 ปี ทรงรู้สึกพระองค์ว่าทุพพลภาพไม่สามารถจะรับราชการให้สมตำแหน่งได้ดังแต่ก่อน จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยบำนาญมาจนตลอดพระชันษา

สิ้นพระชนม์

หลังจากที่พระองค์เจ้าวัฒนาได้ออกจากตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลแล้ว ทรงกลับลงมาสร้างวังตั้งตำหนักอยู่ที่ริมคลองแสนแสบใกล้เชิงสะพานเฉลิมโลกในอำเภอปทุมวัน อยู่เป็นปกติมาหลายปีจึงประชวรด้วยพระโรคชราและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2461 ปีมะเมีย สิริพระชันษาได้ 71 ปี[2]

งานพระราชทานเพลิงพระศพ

ทรงโปรดให้พระราชทานเพลิง ณ เมรุหลวงวัดเทพศิรินทราวาสพร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรอีก 5 พระองค์พร้อมกัน